
หายใจไม่อิ่ม (Dyspnea หรือ Shortness of Breath)
หายใจไม่อิ่ม (Dyspnea หรือ Shortness of Breath) เป็นลักษณะอาการที่ไม่สามารถหายใจสูดอากาศเข้าไปได้อย่างเต็มที่ จึงเป็นการหายใจสั้น ๆ หรือรู้สึกหายใจไม่ออก เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน อาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นเฉียบพลันในช่วงสั้น ๆ หรืออาจหายใจไม่อิ่มอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการทำกิจกรรม อยู่ในสภาพอากาศและสถานการณ์ที่ทำให้หอบเหนื่อยหายใจไม่ทัน หรืออาจกำลังป่วยด้วยโรคที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ
โดยทั่วไป หายใจไม่อิ่มมักเกิดจากกิจกรรมที่ใช้แรงหนัก ทำให้ร่างกายหอบเหนื่อยและหายใจไม่ทันหรือหายใจถี่เป็นช่วงสั้น ๆ แล้วอาการจะหายไปเมื่อพ้นจากกิจกรรมเหล่านั้น เช่น การออกกำลังกาย อุณหภูมิที่สูงหรือต่ำเกินไป หรืออยู่บนที่สูง แต่หากเกิดอาการหายใจไม่อิ่มอยู่เสมอ หายใจไม่อิ่มอย่างรุนแรง หรือหายใจไม่อิ่มทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที
อาการหายใจไม่อิ่ม
ลักษณะอาการของการหายใจไม่อิ่ม คือ
- หายใจไม่สะดวก รู้สึกเหมือนอากาศไม่พอ
- หายใจเป็นช่วงสั้น ๆ หายใจถี่ ไม่สามารถหายใจเข้าลึก ๆ ตามปกติได้
- รู้สึกอึดอัด แน่นหน้าอก
- หายใจไม่ออก หรือรู้สึกเหมือนจะขาดใจ
ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้แม้ผู้ป่วยไม่ได้อยู่ในสภาวะที่ขาดอากาศหายใจแต่อย่างใด แต่อาจเป็นสัญญาณสำคัญของการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
สาเหตุของอาการหายใจไม่อิ่ม
อาการหายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่ผู้ป่วยหายใจเอาอากาศเข้าไปได้ไม่สมดุลกับปริมาณที่ร่างกายต้องการ อันเนื่องมาจากสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้มีอาการหายใจไม่อิ่มปรากฏใน 2 ลักษณะ คือ
อาการหายใจไม่อิ่มที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และอาจเกิดขึ้นเป็นเวลาหลายนาทีหรือหลายชั่วโมง เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น
ปัจจัยภายนอก
- การออกกำลังกาย หรือใช้แรงอย่างหนัก
- อุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไป
- อยู่บนที่สูง ซึ่งมีความกดอากาศต่ำ
- เกิดเหตุการณ์ทำให้ตื่นตระหนกตกใจกะทันหัน หรือเกิดความวิตกกังวล
ปัจจัยภายใน
- ระบบทางเดินหายใจถูกกีดขวาง หรือมีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ เช่น มีเมล็ดผลไม้ติดอยู่ในลำคอ
- โรคหอบหืด หลอดลมหดตัวแคบลง เกิดมูกเหนียวภายในทำให้ทางเดินหายใจแคบลง ผู้ป่วยจึงหายใจลำบากและอาจมีเสียงหวีดขณะหายใจ
- โรคภูมิแพ้ หรือปฏิกิริยาแพ้ต่อสารอย่างรุนแรง อาการที่อาจพบร่วมด้วย เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง
- การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น ปอดอักเสบ เมื่อเกิดมูกเสมหะอุดตัน ทำให้หายใจติดขัด อาจพบร่วมกับอาการไข้ ไอ หอบเหนื่อย
- เกิดลิ่มเลือดอุดตันภายในปอด
- ภาวะปอดแตก หรือภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ
- ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และภาวะหัวใจวาย
อาการหายใจไม่อิ่มที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง
เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง และอาจเกิดขึ้นเป็นเวลานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน สามารถเกิดจากสาเหตุเดียวกันกับอาการหายใจไม่อิ่มที่เกิดขึ้นกะทันหันได้เช่นกัน อย่างโรคหอบหืด หรือโรคและภาวะเกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม (Cardiomyopathy) ที่ทำให้หัวใจมีรูปร่างและขนาดที่เปลี่ยนไป ทำให้สูญเสียประสิทธิภาพในการสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกายตามส่วนต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่อิ่มอย่างต่อเนื่องเรื้อรังหลายเดือน หรือหลายปีได้
นอกจากนี้ อาการหายใจไม่อิ่มที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรังอาจเกิดจากโรคและภาวะอื่น ๆ เช่น
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD)
- เนื้อเยื่อในปอดอักเสบ และเกิดความเสียหาย
- ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง
- ภาวะอ้วน เนื่องจากมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป โดยเฉพาะบริเวณช่วงอกและช่วงท้อง ทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้หายใจทำงานหนักขึ้น
- สมรรถภาพร่างกายลดลง เช่น ไม่ค่อยออกกำลังกาย ทำให้เหนื่อยหอบและหายใจไม่อิ่มได้ง่ายเมื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ
- การตั้งครรภ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบไหลเวียนโลหิตและระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นอาการปกติสำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์
การวินิจฉัยอาการหายใจไม่อิ่ม
ไม่ว่าจะเป็นอาการหายใจไม่อิ่มที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หรืออาการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง ล้วนเป็นสัญญาณของอาการป่วยที่รุนแรงได้ ผู้ป่วยจึงควรสังเกตหรือบันทึกลักษณะอาการที่เกิดขึ้น ความถี่ของการเกิด ความรุนแรงของอาการ และอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกับอาการหายใจไม่อิ่ม
ผู้ป่วยสามารถปรึกษาและขอความช่วยเหลือจากแพทย์ได้ โดยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีที่มีอาการรุนแรงขึ้น มีอาการหายใจไม่อิ่มปรากฏขึ้นทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หายใจไม่อิ่มอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง มีอาการหายใจไม่อิ่มที่แย่ลงกว่าที่เคยเป็นก่อนหน้า หรือมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น
- หายใจมีเสียงหวีด และรู้สึกเหนื่อย
- มีไข้สูง ไอ หนาวสั่น
- หายใจลำบาก โดยเฉพาะเมื่อนอนราบ
- มีอาการแพ้หรือบวมตามอวัยวะ เช่น เท้า และข้อเท้า
เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้น อย่างตรวจฟังเสียงการเต้นของหัวใจและการทำงานของปอดด้วยหูฟังแพทย์ที่เรียกว่าสเต็ตโทสโคป (Stethoscope) ตรวจหาอาการต่าง ๆ ตามร่างกายภายนอก เช่น อาการขาบวม หรืออาการแพ้อื่น ๆ จากนั้น แพทย์จะซักประวัติทางการแพทย์ เช่น เคยป่วยหรือกำลังป่วยด้วยโรคในระบบทางเดินหายใจ โรคเกี่ยวกับปอดและหัวใจหรือไม่ และสอบถามลักษณะอาการป่วยในเบื้องต้น ซึ่งผู้ป่วยควรสังเกตและจดจำอาการสำคัญ เช่น
- อาการหายใจไม่อิ่มเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หรือเกิดขึ้นบ่อย ๆ เป็นระยะ
- หายใจไม่อิ่มเกิดจากการทำกิจกรรมใดมาก่อนหน้าหรือไม่ หรืออาการเกิดขึ้นมาเอง
- อาการรุนแรงเพียงใด
- มีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บหน้าอก หรือไม่สามารถนอนราบลงได้
แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับการตรวจเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ เพื่อประกอบการวินิจฉัยหาโรคซึ่งเป็นสาเหตุของอาการหายใจไม่อิ่ม