ลักษณะของผดร้อน มี 4 ชนิด
- Miliaria crytallina ผดชนิดนี้มีการอุดตัน ของ ท่อระบายเหงื่อ ในระดับตื้นที่สุด จากนั้นมี การแตกออกของท่อระบายเหงื่อ ทำให้ผื่นเกิดเป็นตุ่มน้ำใสขนาดเล็กๆ แตกง่ายเมื่อสัมผัสหรืออาบน้ำ ไม่คัน สามารถหายเองได้ ในเด็กเล็กมักขึ้นที่หน้าและลำตัวส่วนบน ผู้ใหญ่มักขึ้นที่ลำตัว
- Miliaria rubra พบได้บ่อยที่สุดและเรารู้จักกันดีในนามว่า “ผดร้อน” มีการอุดตันของท่อระบายเหงื่อในระดับกลางของหนังกำพร้า ผื่นเป็นตุ่มแดง คัน บางครั้งอาจแสบร้อนได้ มีอาการหลังจากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ร้อน อบอ้าว ผื่นมักขึ้นที่ลำตัวส่วนบนทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
- Miliaria pustulosa เป็นผลจาก “ผดร้อน” ที่เป็นมากและนานจนเกินไปจนเกิดเป็นตุ่มหนอง และบางครั้งเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรียที่ได้มาจากการเกา
- Miliaria profunda ผดชนิดนี้ส่วนหนึ่งเกิดมาจาก “ผดร้อน” ที่เป็นเรื้อรัง เป็นแล้วเป็นอีกอยู่เรื่อยๆ จนนำไปสู่การอุดตันของท่อระบายเหงื่อในระดับลึกที่สุด ลักษณะผื่นเป็นตุ่มนูนสีขาวขนาด 1-3 มิลลิเมตร พบได้ที่ลำตัวและขาส่วนบน ผื่นชนิดนี้พบได้น้อย
การป้องกัน
- หลีกเลี่ยงสภาพอากาศร้อนเกินไปโดยเฉพาะในฤดูร้อน อยู่ในห้องที่อากาศเย็นสบาย
- สวมใส่เสื้อผ้าเนื้อบางๆ ไม่รัดรูป ระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย
- อาบน้ำเย็นหรือเช็ดตัวช่วยคลายร้อน ใช้สบู่ที่ไม่ทำให้ผิวหนังแห้ง
- หลีกเลี่ยงการทาครีมหรือโลชั่นที่ก่อให้เกิดการอุดตัน ประเภทน้ำมัน และขี้ผึ้ง
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
ผดร้อนมักจะหายได้เองภายในเวลาไม่กี่วัน แต่ควรไปพบแพทย์หากคุณมีอาการต่อไปนี้
- มีไข้ หนาวสั่น
- มีหนองออกจากตุ่ม
- ปวดมากขึ้น
- คันหรือแดงอักเสบมาก
- เกิดผดร้อนและไม่หายไปเมื่อผ่านไปหลายวัน
- มีอาการเป็นบ่อยๆ